วันมาฆบูชา
วันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและได้เวียนมาบรรจบอีกครั้ง โดยในปี พ.ศ.๒๕๕๗ นี้ วันมาฆบูชา
ตรงกับวันศุกร์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๗
"มาฆะ" เป็นชื่อของเดือน ๓ มาฆบูชานั้น ย่อมาจากคำว่า"มาฆบุรณมี" แปลว่าการบูชาพระในวันเพ็ญ เดือน ๓ วันมาฆบูชาจึงตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๓ แต่ถ้าปีใดมีเดือน อธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ในวันพุทธศาสนา คือวันที่มีการประชุมสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพุทธศาสนา ที่เรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต" และเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดง โอวาทปฎิโมกข์ แก่พระสงฆ์สาวกเป็นครั้งแรก ณ เวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ เพื่อให้พระสงฆ์นำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะยังพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป
คำว่า "จาตุรงคสันนิบาต" แยกศัพท์ได้ดังนี้ คือ "จาตุร" แปลว่า ๔ "องค์" แปลว่า ส่วน "สันนิบาต" แปลว่า ประชุม ฉะนั้นจาตุรงคสันนิบาตจึงหมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ ๔" กล่าวคือมีเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันนี้ คือ
๑. เป็นวันที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหารในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย
๒. พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" คือเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น
๓. พระภิกษุสงฆ์ทุกองค์ที่ได้มาประชุมในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผุ้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วทุก ๆองค์
๔. เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ
การปฎิบัติตนสำหรับพุทธศาสนาในวันนี้ก็คือ การทำบุญ ตักบาตรในตอนเช้า หรือไม่ก็จัดหาอาหารคาวหวานไปทำบุญฟังเทศน์ที่วัด ตอนบ่ายฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา ในตอนกลางคืน จะพากันนำดอกไม้ ธูปเทียน ไปที่วัดเพื่อชุมนุมกันทำพิธีเวียนเทียน รอบพระอุโบสถ พร้อมกับพระภิกษุสงฆ์โดยเจ้าอาวาสจะนำว่า นะโม ๓ จบ จากนั้นกล่าวคำ ถวาย ดอกไม้ธูปเทียน ทุกคนว่าตาม จบแล้วเดิน เวียนขวา ตลอดเวลาให้ระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ จนครบ ๓ รอบ แล้วนำดอกไม้ ธูปเทียนไปปักบูชาตามที่ทางวัด เตรียมไว้ เป็นอันเสร็จพิธี
เวฬุวันมหาวิหารคือสถานที่ประชุมสงฆ์ครั้งสำคัญ
วันนั้นนับว่าเป็นวันที่น่ามหัศจรรย์อย่างยิ่ง คือ ในขณะที่พระองค์ได้ทรงเสด็จมาถึงเวฬุวันมหาวิหาร ปรากฏว่าพระสงฆ์สาวกที่พระองค์บวชให้แล้วและได้ส่งไปประกาศพระพุทธศาสนา ณ สถานที่ต่าง ๆ ได้มารอเฝ้าพระองค์อยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นในตอนบ่ายวันนั้น พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า โอกาสที่อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน จึงทรงเรียกประชุมพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดที่อยู่ที่นั้นและทรงประกาศแต่งตั้งตำแหน่งพระอัครสาวก คือทรงประกาศแต่งตั้งพระสารีบุตรให้ดำรงตำแหน่งเบื้องขวา ส่วนพระมหาโมคคัลลานะนั้นให้ดำรงอยู่ในตำแหน่งเบื้องซ้าย เสร็จแล้วพระพุทธองค์ก็ทรงประทานพระบรมพุทโธวาทซึ่งเรียกว่า พระโอวาทปาฏิโมกข์คือเนื้อความอย่างย่อๆ ในพระพุทธศาสนา
การประชุมสงฆ์ครั้งนี้จัดว่าเป็นการประชุมครั้งสำคัญยิ่งในทางพระพุทธศาสนา และไม่มีครั้งใดที่จะยิ่งกว่า เพราะว่า
๑ พระสาวกผู้เข้ามาประชุมนั้นอนุมานได้ ๑,๒๕๐ องค์ และล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์
๒. พระสาวกทั้งหมดนั้นล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือพระสาวกที่ได้อุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธองค์
๓. พระสาวกทั้งหมดนั้นต่างมาพร้อมกันเองโดยมิได้นัดหมาย
๔. วันนั้นเป็นวันมาฆปุณณมีดิถีเพ็ญกลางเดือนสาม และพระบรมศาสดาทรงประทานพระบรมพุทโธวาทซึ่งเรียกว่า "โอวาทปาฏิโมกข์" การประชุมสงฆ์ครั้งนั้นมีชื่อเล่าลือกันต่อมาในทางพระพุทธศาสนาว่า "จตุรังคสันนิบาต" ดังนั้นการประชุมสงฆ์ครั้งนั้นจึงนับว่า เป็นการประชุมครั้งสำคัญซึ่งฝังติดอยู่ในใจของพวกพุทธบริษัทสืบ ๆ ต่อกันมาไม่รู้ลืม คือทุกปีของวันเพ็ญกลางเดือนสาม พวกชาวพุทธบริษัททุกประเทศ นิยมบำเพ็ญกันเป็นงานมหากุศลประจำปี ซึ่งปัจจุบันนี้เรานิยมเรียกว่า "ทำบุญวันมาฆบูชา"
พระบรมพุทโธวาทที่เรียกว่า พระโอวาทปาฏิโมกข์ที่ยกขึ้นแสดงในวันมาฆบูชานั้น พระพุทธองค์ได้ทรงประพันธ์ไว้แบ่งได้เป็น ๓ คาถาครึ่ง ซึ่งเมื่อนับเป็นหัวข้อใหญ่ ๆ คงได้ ๑๒ หัวข้อพอดีดังนี้
พระคาถาที่หนึ่ง
ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกขา
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ
๑. ขันติ คือความอดกลั้นเป็นตปะอย่างยอด
๒. ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวพระนิพพานว่าเป็นยอด
๓. ผู้ที่บวชแล้วยังนิยมการฆ่าและเบียดเบียนคนอื่น และสัตว์อื่นอยู่ไม่จัดว่าเป็นสมณะคือผู้สงบ ฯ
พระคาถาที่สอง
สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ
๔. การไม่ทำความชั่วทุกๆ อย่าง
๕. บำเพ็ญแต่กุศลคือความดีอย่างเดียว
๖. พยายามทำจิตของตนให้บริสุทธิ์จากเครื่องเศร้าหมอง
ทั้ง ๓ อย่างนี้เป็นคำสอน (ที่เป็นจุดมุงหมาย) ของท่านผู้รู้ทั้งหลาย
พระคาถาที่สาม
อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโญโค เอตํ พุทฺธานสาสนนฺติฯ
๗. การไม่พูดจากระทบกระเทือนเปรียบเปรยกัน
๘. การไม่รังแกและทำร้ายกัน
๙. การสำรวมในปาฏิโมกข์
๑๐. การรู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร
๑๑. การยินดีแต่ในที่นั่งที่นอนอันสงัด
๑๒. การประกอบความเพียรในทางจิตอันสูงส่ง
ทั้ง ๖ ข้อนี้ก็เช่นกันเป็นคำสอน (ที่เป็นจุดมุ่งหมาย) ของท่านผู้รู้ทั้งหลาย ฯ